-ข่าวที่เกี่ยวเนื่องกัน
ไอซีทีควงกสทช.บินถกไอทียู รักษาสิทธิ์วงโคจรดาวเทียม
ไอซีทีส่งหนังสือ เชิญ กสทช.บินไปเจรจากับไอทียูต้นเดือนมิ.ย.นี้ สานภารกิจรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียม แสดงจุดยืนรัฐบาลไทยยิงไทยคม 6 แน่นอนปี56
ไอซีทีส่งหนังสือเชิญ กสทช.บินไปเจรจากับไอทียูต้นเดือนมิ.ย.นี้ สานภารกิจรักษาสิทธิวงโคจรดาวเทียมทั้ง 120 และ 50.5 องศาตะวันออก ลั่นต้องได้ครองตำแหน่งดาวเทียมต่ออีก 2 ปี แสดงจุดยืนรัฐบาลไทยเตรียมยิงไทยคม 6 แน่นอนปี 56 นี้ เพราะไทยคมยอมทำตามสัญญาแล้ว ย้ำเหตุที่หนีบกสทช.ไปด้วย เพราะไม่อยากผิดกฎหมายใหม่ เล็งขอใบอนุญาตให้ กสท เป็นเจ้าภาพทำดาวเทียมแห่งชาติ เผยสเปคไทยคม 6 เสร็จแล้วกำหนดยิงวงโคจร 78.5 องศา ระบุคู่สัญญายินยอมทำตามสัมปทาน แต่ขอขยายเวลาเพิ่มสัดส่วนหุ้นชินคอร์ปฯ ให้เป็น 51% เท่าเดิมเพราะต้องประสานกับตลาดหลักทรัพย์ฯ
นางจีราวรรณ บุญเพิ่ม ปลัดกระทรวงเทคโนโลยีสารสนเทศ และการสื่อสาร (ไอซีที) กล่าวว่า ความคืบหน้าการรักษาวงโคจรดาวเทียมตำแหน่ง 120 องศา และ 50.5 องศาตะวันออก ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้มีมติให้ไอซีทีไปศึกษาแนวทางดำเนินงานนั้น ขณะนี้รอผลศึกษาจากบมจ. กสท โทรคมนาคม ว่าจะดำเนินการอย่างไร เบื้องต้นไอซีทีมีข้อสรุป คือ ให้กสทไปเช่า หรือซื้อดาวเทียมมือ 2 ที่มีอยู่ในวงโคจร แล้วลากมาไว้ในตำแหน่ง 120 องศาตะวันออกไปพลางๆ ก่อน โดยขณะนี้ ได้เชิญผู้ทรงคุณวุฒิทางสำนักอวกาศ และหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องมาหารือถึงแนวทางดังกล่าวแล้ว
อีกทั้ง ไอซีทีได้ ส่งจดหมายเชิญผู้แทนจากสำนักงานคณะกรรมการกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กทช.) ปฎิบัติหน้าที่แทนกรรมการกิจการโทรทัศน์ กิจการวิทยุกระจายเสียง และกิจการโทรคมนาคม (กสทช.) ร่วมเดินทางไปเจรจาสหภาพโทรคมนาคมระหว่างประเทศ (ไอทียู) ต้นเดือนมิ.ย.เพื่อรักษาตำแหน่งวงโคจร ซึ่งสาเหตุที่เชิญ กทช.ไปด้วย เพราะจะได้ทำความเข้าใจการรักษาวงโคจร และไม่ขัดต่อพ.ร.บ.องค์กรจัดสรรคลื่นความถี่ และกำกับการประกอบกิจการวิทยุกระจายเสียง วิทยุโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคม พ.ศ. 2553 (พ.ร.บ. กสทช.)
"การรักษาวงโคจรทั้ง 2 ตำแหน่งเป็นของประเทศ แต่การให้ผู้มาใช้งานนั้น ต้องคุยกันทั้ง 3 ฝ่ายคือไอซีที กทช. และไอทียู ซึ่งรัฐบาลก็แสดงความต้องการที่จะใช้วงโคจร 120 เป็นดาวเทียมแห่ง ชาติ ใช้งานส่วนราชการ และเพื่อความมั่นคง ดังนั้น ต้องดูในแง่กฎหมายว่า กทช.หรือ กสทช.ในอนาคตจะออกไลเซ่นนี้ให้แก่รัฐบาลได้หรือไม่"
เธอ กล่าวว่า ส่วนวงโคจร 50.5 องศาตะวันออก แม้ยังเหลือสิทธิ์ใช้งานอีก 1 ปีครึ่ง ต่างจากวงโคจรที่ 120 ที่เหลืออายุเพียง 9 เดือน แต่ไอซีทีก็ จะเร่งเจรจากับไอทียูควบคู่ไปด้วย เพราะทราบมาว่า วงโคจรดังกล่าวมีต่างประเทศให้ความสนใจจำนวนมาก เพราะเป็นจุดยุทธศาตร์ที่เหมาะกับการทำตลาดโดยเฉพาะในแถบทวีปแอฟริกา ดังนั้ง ไอซีทีจะเสนอแผนตามที่กสทจัดทำมาให้แก่ไอทียูไปด้วยเลย ซึ่งในทางปฎิบัติแล้วเชื่อว่าสามารถทำได้ เพราะเป็นทางออกที่หลายประเทศเลือกใช้
โดยจะมีการเช่าหรือซื้อดาวเทียมมือ 2 มาหนึ่งดวง จากนั้นจะลากไปแสดงสิทธิ์ในวงโคจรที่ 120 องศาตะวันออกก่อน และจากนั้น อีก 6 เดือน ค่อยลากมาแสดงสิทธิ์ในวงดคจรที่ 50.5 องศาตะวันออก เพื่อรักษาตำแหน่งวงโคจรไว้อีก 2 ปี พร้อมกับเสนอแผนการยิงดาวเทียมดวงใหม่ คือไทยคม 6 ว่าไทยจะยิงดาวเทียมดวงใหม่ในปี 2556 อย่างแน่นอน
นางจีราวรรณ กล่าวอีกว่า คณะกรรมการเทคนิคได้กำหนดคุณสมบัติ (สเปค)ดาวเทียมไทยคม 6 เสร็จเรียบร้อยแล้ว และคาดว่าจะยิงดาวเทียมในปี 2556 ตำแหน่ง 78.5 องศาตะวันออก โดยเรื่องดังกล่าวได้รายงานให้นายจุติ ไกรฤกษ์ รมว.ไอซีที รับทราบ และอนุมัติให้ดำเนินการยิงดาวเทียมได้ ทั้งนี้ทางไทยคม ยินยอมที่จะยิงดาวเทียมไทยคม 6 เป็นดาวเทียมสำรองไทยคม 5 ซึ่งเป็นการปฏิบัติตามสัญญาที่ต้องมีดาวเทียมสำรอง
อีกทั้งปัจจุบันประเทศไทยมีดาวเทียมเพียง 2 ดวง คือ ไทยคม 5 และไทยคม 4 (ไอพีสตาร์) ซึ่งไม่เพียงพอต่อความต้องการในประเทศ นอกจากนี้ ในการเพิ่มสัดส่วนการถือหุ้นของบมจ.ชินคอร์ปอเรชั่น บริษัทแม่ของไทยคมให้กลับไปอยู่ในสัดส่วนเดิม 51% ตามสัญญาเดิม จากปัจจุบันอยู่ที่ 41% นั้น ทางไทยคมได้ขอขยายระยะเวลาการดำเนินการ เพราะต้องดำเนินการแจ้งกับตลาดหลักทรัพย์แห่งประเทศไทย ขณะเดียวกันทางกระทรวงไอซีที จะต้องสอบถามไปยังสำนักงานอัยการสูงสุดด้วย เพื่อความถูกต้องชัดเจน และมั่นใจว่าจะไม่ปัญหาเกิดขึ้นภายหลังอีก
เครดิต
http://www.bangkokbiznews.com/home/detail/it/it/20110516/391010/ไอซีทีควงกสทช.บินถกไอทียู-รักษาสิทธิ์วงโคจรดาวเทียม.html