'ทีวีดิจิตอล'คนดูไม่ต้องทิ้งทีวีเก่า
เปลี่ยนผ่านสู่ 'ทีวีดิจิตอล' คนดูอย่าตื่น - ทีวีเก่าไม่ต้องทิ้ง : อนัญชนา สาระคู ... รายงาน
อุตสาหกรรมวิทยุ-โทรทัศน์ของไทย กำลังก้าวสู่การเปลี่ยนแปลงครั้งสำคัญ จากยุค อนาล็อก สู่ยุค ดิจิตอล เพื่อพัฒนาอุตสาหกรรมให้ทัดเทียมกับนานาประเทศที่ล้ำหน้าประเทศไทยไปหลายขุม การเปลี่ยนแปลงเบื้องต้นที่คนไทยจะได้รับจากการเปลี่ยนผ่านดังกล่าว คือความคมชัดของภาพที่ดีขึ้นกว่าเก่า ไม่เกิดภาพซ้อน และจะมีช่องใหม่เพิ่มขึ้นอีก 48 ช่องรายการ (ไม่นับรวมช่องรายการของเคเบิลทีวี และทีวีดาวเทียม)
ความคืบหน้าของการเปลี่ยนผ่านการส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากอนาล็อกเป็นดิจิตอลนั้น คณะกรรมการกิจการกระจายเสียงและกิจการโทรทัศน์ (กสท.) อยู่ระหว่างการกำหนดกรอบ วางหลักเกณฑ์ และเงื่อนไขต่างๆ ซึ่งมีการกำหนดประเภทกิจการของช่องใหม่ที่เพิ่มขึ้นไว้ 3 ประเภทคือ กิจการบริหารสาธารณะจำนวน 12 ช่อง ตามกรอบเดิมคาดว่าจะออกใบอนุญาตได้ประมาณเดือนเมษายนนี้ จากนั้นช่วงเดือนกรกฎาคม-สิงหาคม เป็นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการทางธุรกิจจำนวน 24 ช่อง และปลายปี 2556 จะเป็นการออกใบอนุญาตประกอบกิจการบริหารชุมชนอีก 12 ช่อง
รวมแล้วเป็น 48 ช่องรายการ ที่ประเมินคร่าวๆ ว่าครัวเรือนไทยจะได้ดูทีวีดิจิตอลที่เป็นช่องสาธารณะ 12 ช่องก่อน ช่วงประมาณปลายปีนี้ จากนั้นก็จะเป็นช่องธุรกิจ 24 ช่องราวต้นปีหน้า ซึ่งการออกใบอนุญาตของช่องธุรกิจ 24 ช่อง จะเปิดให้มีการประมูล กำหนดประเภทช่องรายการล่าสุดไว้คือ ช่องเด็ก 3 ช่อง ช่องข่าว 7 ช่อง ช่องวาไรตี้ 7 ช่อง ซึ่งส่งสัญญาณในระบบมาตรฐาน และอีก 7 ช่องรายการ ที่จะเป็นการส่งสัญญาณด้วยระบบ HD
วัตถุประสงค์ของการเปลี่ยนแปลงครั้งใหญ่นี้ กสท.ระบุไว้ว่า เพื่อพัฒนากิจการโทรทัศน์ของประเทศให้รองรับความต้องการและความจำเป็นพื้นฐานในการรับรู้ข้อมูลข่าวสารที่มีคุณภาพและเป็นประโยชน์ในการยกระดับคุณภาพชีวิต การพัฒนาความรู้ ความสามารถ การพัฒนาสังคม และต่อยอดไปสู่การพัฒนาประเทศ
นอกจากนี้ เพื่อสร้างกลไกให้เกิดการแข่งขันในกิจการโทรทัศน์อย่างเสรีและเป็นธรรม ลดการผูกขาด และเพิ่มความหลากหลายของผู้ประกอบกิจการ และเพื่อให้ประชาชนสามารถรับสัญญาณวิทยุโทรทัศน์ระบบดิจิตอลได้อย่างทั่วถึง และภาคประชาชนได้รับการจัดสรรการใช้คลื่นความถี่อย่างสมดุลและเป็นธรรม
สุดท้ายคือ เพื่อให้กิจการโทรทัศน์ของประเทศมีความก้าวหน้าด้านเทคโนโลยี และสามารถใช้คลื่นความถี่วิทยุได้อย่างมีประสิทธิภาพ สามารถใช้ประโยชน์จากโครงสร้างพื้นฐานและโครงข่ายร่วมกัน เพื่อลดการลงทุนที่ไม่จำเป็นลง
ขณะที่ปัจจุบันประเทศไทยสามารถรับชมโทรทัศน์ได้ 3 ช่องทางหลักคือ 1.ผ่านระบบภาคพื้นแบบไม่บอกรับสมาชิก หรือ ฟรีทีวี มีจำนวน 6 สถานี มีจำนวนครัวเรือนที่เข้าถึงบริการโทรทัศน์ผ่านระบบภาคพื้นดิน คิดเป็นร้อยละ 45.8 ของครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ 2.ผ่านระบบเคเบิล มีจำนวนประมาณ 990 สถานี มีจำนวนครัวเรือนที่เข้าถึงบริการโทรทัศน์ผ่านระบบเคเบิล คิดเป็นร้อยละ 28.7 ของครัวเรือนที่มีโทรทัศน์ และ 3.ผ่านระบบดาวเทียม มีจำนวนประมาณ 200 ช่องรายการ มีจำนวนครัวเรือนที่เข้าถึงบริการโทรทัศน์ผ่านระบบดาวเทียม คิดเป็นร้อยละ 25.5 ของครัวเรือน
ทีวีเก่ายังใช้ได้แค่เพิ่มกล่องสัญญาณ
พ.อ.นที ศุกลรัตน์ รองประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.) และประธานคณะกรรมการกิจการกระจายเสียง และกิจการโทรทัศน์ (กสท.) ให้ข้อมูลว่า สิ่งที่แตกต่างระหว่างทีวีดิจิตอลกับทีวีสี ก็คือวิธีการส่งสัญญาณจะเปลี่ยนไป เปลี่ยนจากการส่งสัญญาณแบบอนาล็อก มาสู่ระบบการส่งสัญญาณที่เรียกว่าดิจิตอล ข้อแตกต่างระหว่างสองระบบคือ อนาล็อกมีอะไรก็ส่งมันไปอย่างนั้น แต่ถ้าเป็นระบบดิจิตอล อะไรก็ตามที่จะส่งสัญญาณออกไป จะถูกนำไปเข้ารหัส 0101 ก่อนถึงจะส่งออกไปได้ เพราะฉะนั้นโอกาสที่สัญญาณที่ได้รับจะคมชัดเหมือนสัญญาณที่ส่งนั้นจะมีโอกาสสูง
"ระบบอนาล็อก จะยังคงส่งสัญญาณไปตามปกติระยะเวลาหนึ่ง ไม่แน่ใจว่า 3-5 ปี หรือ 7-8 ปี เนื่องจากต้องดูว่าคนที่เปลี่ยนไปรับระบบสัญญาณดิจิตอลมันจะเริ่มต้นขึ้นได้รวดเร็วขนาดไหน หลังจากนั้นค่อยตัดสินใจเชิงนโยบาย ในเบื้องต้นก็คือ อนาล็อกก็ยังอยู่เหมือนเดิม ไม่กระทบใดๆ ทั้งสิ้น แต่ต่อไปคนก็จะเลือกซื้อทีวีดิจิตอล ซึ่งปัจจุบันเครื่องรับอนาล็อกกับเครื่องรับดิจิตอลราคาเท่ากัน เพราะมันต่างกันแค่เพียงส่วนภาครับที่เรียกว่าจูนเนอร์เท่านั้นเอง ดังนั้น ผู้ชมจึงไม่จำเป็นต้องเปลี่ยนทีวีใหม่ เพียงนำ Set Top Box มาทำหน้าที่รับสัญญาณดิจิตอลก็เพียงพอแล้ว" พ.อ.นทีกล่าว
สำหรับผู้ชมที่รับดูผ่านเคเบิลและจานดาวเทียมกลับไม่กระทบอะไร เพราะว่าทีวีดิจิตอลช่องใหม่ทั้งหมด จะถูกประกาศให้เป็นฟรีทีวี ฟรีทีวีเหล่านี้จะถูกนำโดยแพลตฟอร์มของดาวเทียม และเคเบิลทีวีไปสู่ผู้ชม ทำให้มีช่องเพิ่มขึ้นเท่านั้นเอง ซึ่งฟรีทีวีเดิมก็จะไปอยู่ที่ทีวีดิจิตอลด้วย จะถูกส่งผ่านระบบดาวเทียม เหมือนที่เคเบิลทีวีหรือทีวีดาวเทียมสามารถดูช่อง 3, 5, 7, 9 หรือฟรีทีวีอื่นๆ ได้ ก็จะเป็นลักษณะเหมือนๆ กัน
น.ส.สุภิญญา กลางณรงค์ กรรมการ กสท.อธิบายเพิ่มเติมว่า การเดินหน้าตามแผนการเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณสู่ดิจิตอลนั้น ผู้บริโภคเองยังไม่ควรตื่นตระหนก เพราะจะยังไม่ได้รับผลกระทบใดๆ ยังไม่จำเป็นต้องทิ้งทีวีเครื่องเก่าและซื้อทีวีเครื่องใหม่ เนื่องจากทีวีเครื่องเก่าที่มีอยู่ก็สามารถรับสัญญาณภาพดิจิตอลได้หากมีอุปกรณ์เสริมคือกล่องรับสัญญาณดิจิตอล ซึ่งในส่วนนี้ทาง กสทช.เองจะช่วยสนับสนุนในด้านคูปองส่วนลดให้ แต่ขณะนี้จะยังไม่มีอุปกรณ์ดังกล่าวเนื่องจาก กสทช.ยังไม่อนุญาตให้ผลิตและนำเข้า ขณะที่ประชาชนจะได้รับคูปองส่วนลด ซึ่งมี 2 ทางเลือกคือ หนึ่งการไปซื้อกล่องรับสัญญาณเพื่อเสียบกับเครื่องรับโทรทัศน์เดิมที่มี และอีกทางเลือกคือการซื้อทีวีดิจิตอล
ทั้งนี้ จะเปิดให้เป็นการค้าเสรีเบื้องต้นมีการกำหนดราคาประเมินของราคากล่องไว้ที่ 800-1,000 บาท แต่ในความเป็นจริงอาจจะถูกกว่านั้นก็ได้ ส่วนมูลค่าคูปองที่จะแจกให้แก่ครัวเรือนนั้น เบื้องต้น 22 ล้านครัวเรือน แต่ตัวเลขจริงจะเป็นเท่าไรนั้นจะใช้ตัวเลขของสำนักงานสถิติแห่งชาติเป็นตัวกำหนด และราคาส่วนลดของคูปองก็ยังไม่มีการกำหนดออกมา เพราะจะขึ้นอยู่กับราคาขั้นต้นของราคาประมูลช่องธุรกิจจำนวนทั้ง 24 ช่องก่อน
ปัจจุบันนี้ ไม่มีทีวีบ้านไหนเลยที่จะรับทีวีดิจิตอลได้ และยังไม่มีจำหน่ายในท้องตลาด แต่เมื่อ กสทช.เคาะให้มีการผลิตหรือนำเข้ากล่องรับสัญญาณ ก็จะเริ่มมี แต่ไม่ได้หมายถึงว่าจะต้องทิ้งทีวี เพราะเครื่องเก่าก็สามารถดูได้ ดังนั้น จึงยังไม่อยากให้ตื่นตระหนก น.ส.สุภิญญากล่าว
หนุนใช้โอกาสทองปฏิรูปสื่อ
น.ส.สุภิญญากล่าวว่า การเปลี่ยนระบบการรับส่งสัญญาณวิทยุโทรทัศน์จากอนาล็อก ไปสู่การส่งสัญญาณด้วยระบบดิจิตอล คือการอัพเกรดทางเทคโนโลยี ที่จะส่งผลให้ภาพรับสัญญาณมีความคมชัดมากขึ้น ประกอบกับมีคลื่นความถี่มากขึ้น อย่างไรก็ตาม ในส่วนตนแล้วการอัพเกรดทางเทคโนโลยีอย่างเดียวคงไม่พอ แต่ควรใช้โอกาสนี้นำไปสู่การปฏิรูปสื่อ โครงสร้างสื่อให้มีความหลากหลาย มีความเป็นอิสระมากขึ้น ตลอดจนมีเนื้อหาที่แตกต่างไปจากเดิม เนื่องจากมีผู้เล่นที่เป็นอิสระมากขึ้น จึงจะถือได้ว่าคนไทยได้รับประโยชน์จากการเปลี่ยนแปลงดังกล่าวอย่างแท้จริง
ที่แน่ๆ คนไทยจะได้ดูทีวีชัดขึ้น นั่นคือสิ่งที่คนไทยจะได้รับแบบเป็นรูปธรรม แต่สิ่งที่ กสท.จะต้องทำด้วยคือการทำให้โครงสร้างเจ้าของสื่อกระจาย มีความหลากหลาย มีเนื้อหาเป็นอิสระ ผู้บริโภคมีทางเลือก เพราะว่าสื่อมีอิทธิพลในการกำหนดแนวคิด ทัศนคติของคน ทุกคนก็ควรจะได้มุมมองความคิดที่หลากหลาย มีสุนทรีย์ มีคุณภาพมากขึ้น น.ส.สุภิญญา กล่าว
น.ส.สุภิญญา กล่าวต่อว่า การดำเนินการของ กสท.ในขณะนี้จึงเป็นเหมือนการออกแบบอนาคตของอุตสาหกรรมวิทยุ-โทรทัศน์ในอีก 15 ปีข้างหน้า ซึ่งการออกแบบในวันนี้จะมีผลในอีก 15-30 ปีข้างหน้า หากไม่ออกแบบที่ดีก็จะเหมือนกับทีวีที่เราดูกันอยู่ในปัจจุบัน ที่เป็นผลจากการไม่ถูกออกแบบมาเมื่อ 30 ปีที่แล้ว ดังนั้น ตอนนี้เมื่อมีโอกาสในการออกแบบจึงถือเป็นโอกาสสำคัญ โอกาสทองสุดท้ายที่จะส่งผลกับอนาคตข้างหน้า การที่จะทำให้เกิดผลประโยชน์สูงสุด ก็ขึ้นอยู่กับการออกแบบกติกาที่กำลังทำอยู่ โดยจะต้องให้มีการแข่งขัน มีโครงสร้างที่เป็นอิสระ เอาผู้บริโภคเป็นตัวตั้ง และใช้ความถี่ที่มีอยู่ให้มีศักยภาพเต็มที่
ส่วนการเปลี่ยนแปลงที่จะเกิดขึ้นเมื่อมีการส่งสัญญาณทีวีภาคพื้นด้วยระบบดิจิตอลนั้น น.ส.สุภิญญา กล่าวว่า นอกจากภาพที่มีความคมชัดแล้ว ในอีก 2-3 ปีข้างหน้า จะเห็นมีรายการที่แตกต่างไปจากเดิม คนดูจะมีทางเลือกมากขึ้น มีความหลากหลายตอบสนองความสนใจเฉพาะทาง โดยภายในปีนี้จะได้เห็นทีวีสาธารณะก่อน 12 ช่องรายการ และต้นปีหน้าเป็นทีวีธุรกิจ
------------------------
(เปลี่ยนผ่านสู่ 'ทีวีดิจิตอล' คนดูอย่าตื่น - ทีวีเก่าไม่ต้องทิ้ง : อนัญชนา สาระคู ... รายงาน)
ขอบคุณข้อมูลจาก
http://www.komchadluek.net/detail/20130325/154644/%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B8%94%E0%B8%B4%E0%B8%88%E0%B8%B4%E0%B8%95%E0%B8%AD%E0%B8%A5%E0%B8%84%E0%B8%99%E0%B8%94%E0%B8%B9%E0%B9%84%E0%B8%A1%E0%B9%88%E0%B8%95%E0%B9%89%E0%B8%AD%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B4%E0%B9%89%E0%B8%87%E0%B8%97%E0%B8%B5%E0%B8%A7%E0%B8%B5%E0%B9%80%E0%B8%81%E0%B9%88%E0%B8%B2.html#.UU_mdle3SZc